9. ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งกันเถอะ

โรคมะเร็ง เป็นคำที่น่ากลัวที่สุด แต่บทเรียนเล่มนี้จะช่วยทำให้ท่านเข้าใจยิ่งขึ้นว่ามะเร็งคืออะไร ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทำให้ท่านสามารถลดภาวะเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้

โรคมะเร็งคืออะไร

โรคมะเร็ง (หรือที่เรียกว่า เนื้อร้าย) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมเซลที่เจริญเติบโตผิดปกติได้

มะเร็งส่วนใหญ่เกิดจากเนื้องอก เป็นเนื้องอกจากเนื้อเยื่อของร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่ ไม่มีประโยชน์อันใดต่อร่างกายเลย เนื้องอกบางชนิดไม่เป็นอันตรายมากนัก กล่าวคือ ไม่เจริญและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น สามารถควบคุมได้

เพื่อทดสอบว่าเนื้องอกนั้นเป็นเนื้องอกดีหรือเป็นมะเร็ง แพทย์ใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อมาพิสูจน์ ซื่งจะใช้เข็มดูดนำตัวอย่างชิ้นเนื้อเพียงเล็กน้อยมาส่องกล้องขยายและตรวจดูความผิดปกติของเซล วิธีอื่นอาจต้องผ่าตัดเพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจ

มะเร็งมีการเจริญสี่ขั้นตอนดังนี้

  1. การโคลนนิ่ง คือการที่เซลหนึ่งซึ่งผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมผิดไป เกิดการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และเซลที่เกิดใหม่มามีลักษณะที่ผิดปกติเช่นเดียวกันและจะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอีกเหมือนกัน

  2. การเจริญเติบโตของเซลไม่เป็นระเบียบ เซลมีการเจริญเติบโตที่มากเกินไป เพราะไม่ได้เจริญเติบโตเท่ากับเซลของร่างกายตามปกติแต่เจริญเติบโตด้วยตัวเอง

  3. เซลผิดปกติ เซลไม่สามารถเจริญเติบโตและพัฒนาได้ตามปกติ แต่มีการแบ่งตัวตามปกติ

  4. แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งก็หมายถึงมะเร็งนั่นเอง การแพร่กระจายของเซลมะเร็งจะไปตามกระแสเลือดหรือต่อมน้ำเหลือง กระจายไปทั่วร่างกาย แล้วแต่จะเจริญอยู่ที่ส่วนใด

เรารู้วิธีป้องกันมะเร็งอย่างไรบ้าง

มีหลักฐานทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ช่วยทำให้ป้องกันและลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งได้

  1. ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่

  2. ปกป้องผิวจากรังสีของแสงแดด

  3. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา

  4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ชนิดไม่มีควัน

  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้รังสี จากเครื่องฉายรังสีตามสถานที่ต่าง ๆ

  6. รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ (ดูตอนท้ายของบทเรียนนี้)

  7. ออกกำลังกาย

กองทุนองค์การวิจัยโรคมะเร็งแห่งโลกและสถาบันวิจัยโรคมะเร็งของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสองสถาบันนี้ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงเพราะเป็นสถาบันอิสระ ได้เปิดเผยรายงานแก่นานาชาติ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมะเร็งและอาหาร โดยการแนะนำให้รับประทานอาหารที่สามารถป้องกันมะเร็งได้ รายงานฉบับนี้มีความหนาเท่ากับสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง สรุปผลรายงานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดกว่า 4,000 ชิ้น จากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลกว่า 100 คน บทเรียนเล่มนี้จึงนำเอาคำแนะนำของ “อาหาร โภชนาการและการป้องกันมะเร็ง: ความเห็นจากทั่วโลก” มานำเสนอแก่ท่าน

การป้องกันมะเร็งที่รู้จักดี

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการตายในโลกมากที่สุด สาเหตุหลักเกิดจากการสูบบุหรี่

ท่านสามารถลดภาวะเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งปอดโดยการเลือกไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ มีหลักฐานสำคัญทีบ่งชัดว่า การรับประทานผักและผลไม้สดมาก ๆ ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ เพราะมีแคโรทีนอยส์ ซึ่งเป็นสารเคมีในพืชและเป็นตัวป้องการได้ดี อย่างไรก็ตามหากท่านสูบบุหรี่ การรับประทานผักผลไม้มาก ๆ ก็ไม่อาจช่วยสักเท่าไรนักหากยังไม่เลิกสูบ

มะเร็งทรวงอก

หรือที่รู้จักในชื่อมะเร็งเต้านม ซึ่งรู้จักกันดีในหมู่สตรี เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นผู้หญิงทั่วโลก นอกเหนือจากมะเร็งผิวหนัง มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ภาวะความเสี่ยงต่อโรคนี้จะยิ่งมีมากขึ้นหากมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในผู้ใหญ่ เป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับระบบสืบพันธุ์ของหญิงด้วย การรับประทานผักและผลไม้สดมาก ๆ ช่วยลดภาวะเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ การศึกษาวิจัยพบว่าหากดื่มสุราแม้ปริมาณเพียงเล็กน้อย ทำให้ภาวะเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง การออกกำลังกายเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

มะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อลูกหมากเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ชายจากโรคมะเร็ง ปัจจุบันนี้ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อย่างไรก็ตามมีความน่าจะเป็นไปได้ของการรับประทานผักและผลไม้สามารถช่วยป้องกันได้เช่นกัน การรับประทานไขมัน (โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์หรือไขมันอิ่มตัว) การรับประทานเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมยิ่งเพิ่มภาวะเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น

มะเร็งลำไส้

มะเร็งในลำไส้ใหญ่และลำไส้ทวาร เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันดับสี่ของโลก ข่าวดีก็คือ ร้อยละ 70 ของมะเร็งลำไส้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ มีหลักฐานที่สามารถบอกได้ว่า การออกกำลังกายนั้นและการรับประทานผักผลไม้มากๆ จะช่วยป้องกันได้อย่างดี ขณะเดียวกันการดื่มสุราและการรับปะทานเนื้อสัตว์จะยิ่งเพิ่มภาวะเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งลำไส้มากยิ่งขึ้น

มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนังเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับแสงแดด โดยมีรังสีอัลตร้าไวโอเลตเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อผิวหนัง มีบางสาเหตุที่เกิดจากการได้รับไอร้อนจากถ่านหิน อาร์เซนิก และคลื่นรังสีอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น ในวัยเด็กได้รับบาดเจ็บจากการถูกแดดเผา อาจทำใหเป็นมะเร็งผิวหนังได้ในอนาคต ดังนั้นจึงสำคัญมากสำหรับเด็กในการป้องกันการถูกแดดแผดเผา

สิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัดโดยตรงเป็นเวลานาน ๆ และถ้าหากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาที ควรมีวิธีช่วยป้องกันแสงแดดได้ด้วยการใส่เสื้อแขนยาว ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15+ หรือ 20+ และควรใส่หมวกเพื่อปกกันแดดส่องใบหน้า

สำหรับคนผิวขาว (โดยเฉพาะฝรั่ง) การพยายามทำให้สีผิวเข้มขึ้นโดยการตากแดดให้มีผิวสีเข้มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตากแดดตามชายหาด การเข้าร้านเสริมสวยเพื่อทำสีผิวเข้ม ล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

การรับประทานอาหารช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง

อาหารที่แนะนำให้รับประทานเป็นประจำ จากการแนะนำของศูนย์วิจัยมะเร็งโลกได้รายงานว่า

1. เน้นการรับประทานอาหารจากพืช

รับประทานอาหารจากพืช เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และอาหารจากแป้ง เช่น ขนมปังโฮลวีท

ธัญพืช ข้าวกล้อง อาหารจากพืชมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะมีเส้นใยอาหารอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุ วิตามิน และมีสารเคมีชีวะที่สำคัญต่อร่างกาย ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับมะเร็งได้

2. รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี

หลีกเลี่ยงการมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปจนผอมติดกระดูก หรือน้ำหนักมากเกินไปจน

อ้วน สำหรับผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักแบบรวดเร็วถึง 5 กิโลกรัม เพราะมีรายงานจากประเทศออสเตรเลียได้ทำการสำรวจชายหญิงจำนวนหนึ่งพบว่า ผู้ชายน้อยกว่าครึ่งหนึ่งและผู้หญิง 1 ส่วน 3 มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐานเนื่องจากมีไขมันที่สะสมพอกพูนไว้มากเกินไป มีการวิจัยที่พบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติพบว่ามีอัตราการเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนทั่วไป เนื่องจากผู้ที่เป็นมังสวิรัติเหล่านี้มักควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาก ทำให้มีอัตราการเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนทั่วไป

3. ร่างกายมีกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่เสมอ

หากท่านมีงานที่นั่งติดอยู่กับโต๊ะ น่าเบื่อจำเจ ในแต่ละวัน ควรหาเวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อการเดินเร็วและใช้เวลาอีกสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมงในการออกกำลังกาย ให้ร่างกายสดชื่นอยู่เสมอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีผลดีต่อร่างกาย ช่วยเสริมสองด้านทั้งด้านอาหารและการออกกำลังกาย สองสิ่งนี้จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงขึ้น มีหลักฐานพบว่า สิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งปอดได้อีกด้วย

4. รับประทานผักแผละผลไม้ให้มาก ๆ

การรับประทานผักผลไม้ทุกวันในปริมาณมาก (วันละสองถ้วยครึ่งเป็นอย่างน้อย) จะยิ่งเป็นผลดี รับประทานผักและผลไม้หลากหลายเช่น ผักสด (สลัด) ผักใบเขียว ผักสวนครัวจำพวกหัวหอมใหญ่ แครอท มะเขือเทศ ผลไม้รสเปรี้ยวจะยิ่งดี แต่ไม่ควรรับประทานผัก ร่วมกับผลไม้พร้อมกัน การรับประทานผักและผลไม้ที่หลากหลายทุกวันช่วยทำให้มีปัจจัยในการป้องกันโรคมะเร็งมากขึ้น แม้บางชนิดก็ยังไม่สามารถค้นพบสรรพคุณนี้ก็ตาม

5. การรับประทานอาหารจากพืชชนิดอื่น

การรับประทานอาหารจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ถั่ว พืชจำพวกราก หัว แต่ละวัน ควรรับประทานอย่างน้อยสามถ้วย ลดอาหารจำพวกน้ำตาล และอาหารสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการผลิต

6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สุรา

มีรายงานกล่าวไว้ชัดเจนว่าไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ที่เลือกจะดื่ม ขอแนะนำให้จำกัดมีการจำกัดปริมาณการดื่ม ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงน้อยกว่า 1 แก้ว เพราะแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง สุราเป็นสาเหตุของมะเร็งในช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร ทางเดินอาหาร ตับ และอาจเสี่ยงต่อการเป็นลำไส้ เต้านม ทวารหนัก สุราเป็นสาเหตุของมะเร็งมากกว่าบุหรี่

7. หากรับประทานเนื้อสัตว์ให้เลือกรับประทานแต่น้อย

หากจะรับประทานเนื้อสัตว์ ควรมีการจำกัดให้รับประทานไม่เกินวันละ 80 กรัม หากต้องการรับประทานเนื้อสัตว์ควรเลือก ปลา เนื้อไก่ หลีกเลี่ยงเนื้อวัวและกระบือ มีรายงานจากกองทุนวิจัยมะเร็งแห่งโลกว่า (WCRF) การรับประทานอาหารจำพวกเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ เต้านม ตับอ่อน ต่อมลูกหมากและไต ดังนั้น หากลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงก็จะเป็นการดี และหากเป็นไปได้หลีกเลี่ยงไม่รับประทานเลย

8. น้ำมันและไขมันในอาหาร

จำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำมันให้น้อยลง โดยเฉพาะไขมันและน้ำมันจาก

สัตว์ ควรใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหารและเลือกน้ำมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันจากถั่ว

มีหลักฐานมากมายรายงานว่า ไขมันและน้ำมันไม่เหมือนกัน ไขมันต่างชนิดกันมีปริมาณพลังงานที่ไม่เหมือนกัน ไขมันหรือน้ำมันจากพืชดีกว่าไขมันหรือน้ำมันจากสัตว์ เพราะมีกรรมวิธีในการกลั่นตัวเองโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางเคมีใด ๆ มีรายงานว่าน้ำมันไม่อิ่มตัวนั้นให้ประโยชน์สำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ มีข้อมูลขณะจัดทำบทเรียนนี้แนะนำว่า น้ำมันไม่อิ่มตัวนี้ไม่มีผลและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

9. ลดปริมาณเกลือให้น้อยลง

การจำกัดอาหารเค็มนั้นเป็นสิ่งที่ดี ควรใช้เกลือปรุงอาหารแต่น้อย ใช้สมุนไพร

และเครื่องเทศในการปรุงอาหารแทนผงชูรสและเกลือ หากเลือกอาหารปรุงสำเร็จ ควรมองหาคำว่า “ไม่มีผงชูรส” “ใช้เกลือปรุงรสเพียงเล็กน้อย” “ไม่เติมเกลือ” เป็นต้น

10. การเก็บรักษาอาหาร

หากต้องเก็บรักษาอาหาร ควรเก็บอาหารให้พ้นและปราศจากเชื้อโรคแบคทีเรีย

และเชื้อรา ควรเก็บอาหารที่ปรุงแล้วในช่องแช่แข็ง เนื้อสัตว์ และอาหารสด (เช่นนม) ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4-6 องศาเซลเซียส ควรเก็บไว้ในภาชนะสะอาดมีฝาปิดสนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรค

11. เครื่องปรุงอาหาร

การใส่เครื่องปรุงอาหารและส่วนผสมอื่น ๆ ในอาหารควรใช้เท่าที่จำเป็น การมีเครื่องปรุงอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีโทษ อย่างไรก็ตามการใส่เครื่องปรุงและส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติมากเกินจำเป็นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอาหารที่จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปที่มุ่งความอร่อยของอาหารเป็นหลัก

12. ใช้วิธีปรุงอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ

ไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หากรับประทานอาหารจำพวกปลา หรือเนื้อ

สัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการย่างหรือเผาน้ำจากเนื้อเหล่านั้น ปลาหรือเนื้อสัตว์ที่นำไปย่างบนเปลวไฟโดยตรงหรือรมควัน ควรรับประทานเป็นครั้งคราว เพราะเนื้อย่างเหล่านี้จะมีสารประกอบบางอย่างที่พิสูจน์แล้วว่ามีอันตรายและก่อให้เกิดมะเร็งในคนและสัตว์ เนื้อที่เผา ย่าง รมควัน

เหล่านี้จะมีสารประกอบเกิดขึ้นขณะย่างหรือรมควัน การปรุงอาหารที่ดีนั้น ควรใช้ความร้อน

ที่ต่ำกว่าการย่าง หรือรมควัน เช่น การต้ม นึ่ง ทอด ผัด ต้มเปื่อย เคี่ยว ใช้เตาไมโครเวฟ จำกัดการวีธีทำอาหารด้วยการย่าง ปิ้ง โดยเฉพาะกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์

10. ไม่ควรใช้อาหารเสริมโดยไม่จำเป็น

การใช้อาหารเสริมได้โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ หากท่านมีสุขภาพปกติดี ไม่เจ็บป่วย หากรับประทานอาหารครบหมู่ ไม่จำเป็นต้องใช้อาหารเสริม

การตรวจหามะเร็งแต่เนิ่น ๆ

การตรวจหามะเร็งตั้งแต่ต้น อาจช่วยชีวิตท่านได้ ต่อไปนี้เป็นวิธีอย่างง่ายๆ

  1. การตรวจสุขภาพด้วยตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นในการตรวจหามะเร็ง หากท่านสัญญาณบางอย่าง หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์

  2. สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการตรวจเบื้องต้นเพื่อหามะเร็งมีดังนี้

    • ตรวจเต้านม หรือ อันฑะด้วยตัวเอง โดยการคลำหาก้อนเนื้อ

    • ผู้หญิงควรตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกสองปี

    • สำหรับผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจลำไส้ ทวารเป็นประจำทุกปี

    • สำหรับผู้ที่อายุ 50 ขึ้นไปตรวจเลือด อุจจาระ ทุกปี

  3. การรักษาโรคมะเร็งนี้จะประกอบด้วย การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการใช้รังสีในการรักษา มีการใช้ภูมิคุ้มกันวิทยาเข้ามาช่วย รวมทั้งวัคซีนและการตัดต่อทางพันธุกรรม ก็เป็นสิ่งที่ศึกษาและมีแนวโน้มในการนำมาใช้ในอนาคต

CAUTION ข้อควรระวัง

C change เปลี่ยนแปลงการทำงานของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ

A a sore เกิดแผลที่รักษาไม่หาย

U unusual มีเลือดออก ประจำเดือนหรือตกขาวมาก

T thickening มีก้อนเนื้อคลำพบได้ในเต้านมหรือที่อื่น ๆ ของร่างกาย

I indigestion เกิดการไม่ย่อยอาหาร หรือเกิดการกลืนอาหารลำบาก

O obvious change เกิดการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ

N nagging เกิดการไอมากหรือมีเสียงแหบ

ดูเพิ่มเติม….บทที่ 10 ในข้อมูลที่เกี่ยวกับอาหารจากพืช ผัก สารสำคัญต่าง ๆ ที่มีประโยชน์กับร่างกายที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจ