จัดแผนออกกำลังกายอย่างไรดี

Post date: 20 พ.ย. 2013, 4:02:33

ถึงตอนนี้ท่านเชื่อมั่นว่าจะต้องออกกำลังกาย คำถามคือ ออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะสมสำหรับตัวเองและควรเริ่มต้นอย่างไร

1. สนุกสนานกับการออกกำลัง อย่าฝืนใจ

มีคำกล่าวว่า “ความเจ็บปวดนำมาซึ่งความสำเร็จ” เมื่อเห็นเหงื่อออกจนเสื้อผ้าเปียกชุ่มอาจรู้สึกพอใจ คำกล่าวนี้อาจไม่ใช้ไม่ได้กับการออกกำลังกาย เพราะเมื่อใดที่รู้สึกเจ็บแสดงว่าอาจมีการบาดเจ็บขึ้นแล้ว เมื่อออกกำลังกายแล้วรู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว ไม่นานนักอาจกลายเป็นข้ออ้างว่าออกกำลังกายไม่เป็นผลดี

การออกกำลังไม่ควรมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น ยกเว้นท่านอยากเป็นแชมป์ยกน้ำหนัก เพราะการออกกำลังกายไม่ว่าแบบไหนล้วนให้ประโยชน์แก่ร่างกาย จริงอยู่ท่านอาจได้ประโยชน์ทำให้การทำงานมีความกระฉับกระเฉงขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ตามควรออกกำลังกายด้วยความสนุก ไม่ใช่การบีบบังคับตัวเองหรือลงโทษตัวเอง

อย่าออกกำลังกายเพียงแบบเดียว ให้ทำหลาย ๆ อย่างเพื่อสร้างแรงกระตุ้น เป็นการบริหารทุกส่วนของร่างกาย ไม่เพียงบริหารส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การว่ายน้ำ เป็นการบริหารร่างกายได้ครบทุกส่วนทั้งหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อ แต่ไม่ได้การออกกำลังช่วยการถ่ายเทน้ำหนักเหมือนการเดิน เพราะการเดินช่วยสร้างความแข็งแรงให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อแขนขาได้ดีกว่า ดังนั้น จึงควรออกกำลังกายทั้งการว่ายน้ำและเดิน ทำให้การออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การออกกำลังกายอย่างอื่นเช่น การเดินเล่น การเล่นเทนนิส กอล์ฟ (โดยไม่นั่งรถ) หรือการเดินไปตามชายหาดก็เป็นการออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งเช่นกัน

ผูกมิตรกับคนอื่น ท่านจะชอบออกกำลังกายกับคนเพื่อน ๆ มากกว่า ลองหาเวลาในวันอาทิตย์เดือนละครั้งเพื่อทำกิจกรรมวมกับคนอื่น เช่น ไปกินอาหารร่วมกันในสวนสาธารณะหรือชายทะเล อย่าลืมเอาการเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ออกกำลังกายด้วยกัน วันแบบนี้เหมาะสำหรับเริ่มต้นการออกกำลังกายที่ดี

2. ออกกำลังกายบ่อยครั้งเท่าไร

หากทำได้ควรจะออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นการดีที่สุด เลือกวันและเวลาเป็นประจำ เช่น วันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งสองวัน วันอังคาร วันพฤหัสบดี เป็นต้น ทำอย่างนี้เท่ากับหยุดออกกำลังเพียงสัปดาห์ละสองวัน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

3. ออกกำลังนานเท่าไร

เรามักเชื่อว่าการออกกำลังกายน้อยกว่า 12 นาที ไม่มีประโยชน์อะไร นี่เป็นเพียงความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง การออกกำลังกายเป็นการสะสม แม้เพียงเล็กน้อยก็มีประโยชน์ แม้แต่ละวันที่ยุ่งกับงานจนหาเวลาออกกำลังกายให้เต็มที่ไม่ได้ ก็ยังสามารถออกกำลังกายไปในตัวได้ เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟท์ เดินสองนาทีไปขึ้นรถโดยสารหรือการเดินตามถนนเพียง 5 นาทีเพื่อไปซื้อของตามร้าน ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันแล้วล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น

การออกกำลังกายวันละ 30 นาที เป็นประโยชน์สำหรับการทำงานของหัวใจเป็นดีที่สุด

คำแนะนำจากโปรแกรมการออกกำลังกายหลายแบบ เริ่มจากการออกกำลัง 5 นาที เมื่อร่างกายรับได้ จากนั้นจึงเพิ่มเวลาให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเริ่มต้นการออกกำลังกาย 20 นาทีก่อน นอกจากรู้สึกไม่สบายกายอาจลดเวลาลง เมื่อเห็นว่าดีขึ้นจึงเพิ่มเวลาให้มากกว่าเดิม อย่าหักโหม เพื่อยืดเวลาในการออกกำลังกายได้นานและมากขึ้น

หากต้องการสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นอาจใช้การนึกในใจว่า การออกกำลังกายเหมือนการไขก๊อกเปิดเอาไขมันออกจากร่างกาย ยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไร ก๊อกยิ่งไหลได้ดีมากเท่านั้น ไขมันยิ่งออกไปจากร่างกายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ยิ่งออกกำลังกายบ่อยครั้งเท่าไร ก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

4. ควรออกกำลังกายระดับใด

โฆษณาสินค้าบางอย่างสื่อให้เห็นว่าการออกกำลังกายอย่างแรงจนรู้สึกเจ็บนั้นเป็นสิ่งดี ซึ่งอาจดีสำหรับคนที่ทนทายาทเท่านั้น ส่วนใหญ่คนเราไม่จำเป็นต้องออกกำลังอย่างแรงถึงขนาดนั้น ร่างกายของเราต้องการออกกำลังเพียงพอเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ระบบหลอดเลือดหรือเพื่อให้มีสุขภาพดีเท่านั้น การออกกำลังกายมากเกินไปอาจเป็นอันตรายและบาดเจ็บได้

การออกกำลังกายที่ไม่รุนแรงทำให้เผาผลาญไขมันได้ดีกว่าการออกกำลังกายอย่างหักโหม ดังนั้น การออกกำลังกายที่พอเหมาะช่วยลดน้ำหนักได้ดีกว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า ส่วนผู้ที่เริ่มต้นออกกำลังกายควรระวังไม่ออกกำลังกายอย่างผิดวิธี มิเช่นนั้นอาจส่งผลในอนาคต เช่น เป็นโรคไขข้ออักเสบ เป็นต้น

ระดับการออกกำลังกายที่ดีคือการทำให้หายใจเข้าออกลึกและเร็ว แต่หากท่านต้องออกกำลังกายกับเพื่อนและพูดคุยด้วย ให้สังเกตว่า การออกกำลังกายแบบพอดีนั้นควรพูดจากันได้เป็นประโยคไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ไม่ใช่การพูดหนึ่งคำต้องหยุดหายใจครั้งหนึ่ง หากออกกำลังกายจนพูดไม่ได้แสดงว่าออกกำลังกายหนักเกินไป นี่คือวิธีการตรวจสอบอย่างง่ายๆ สำหรับการกำหนดระดับการออกกำลังกายเพื่อความปลอดภัย ไม่ให้ออกกำลังกายหนักเกินไป

สรุปก็คือ การออกกำลังกายควรมีหลากหลายรูปแบบ มีความสนุกสนาน ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 3 - 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที ระดับพอดี หายใจเข้าออกลึกและเร็ว ไม่ใช่ออกกำลังกายจนหายใจไม่ทัน

แล้วมีปัจจัยอื่นอีกไหมที่เกี่ยวกับฟิตเนส?

เราสนใจศึกษาการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจ แอโรบิก (หมายถึง “พร้อมด้วยออกซิเจน”) คือ การออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญออกซิเจนเพื่อสร้างพลังงานแก่กลุ่มกล้ามเนื้อของร่างกาย การออกกำลังกายแบบแอโรบิกมีความสำคัญมากเพื่อการมีสุขภาพดี การออกกำลังกายแบบอื่นมีความสำคัญเพื่อความสมดุลของสุขภาพ

ความยึดหยุ่น

ขณะออกกำลังกายการทำให้ข้อต่อตามจุดต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพื่อลดการบาดเจ็บและปวดหลัง

การบริหารกายด้วยการยืดเส้นยืดสายเป็นวิธีที่ดีเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น เป็นสิ่งสำคัญที่จะควบคุมการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ การยืดเส้นยืดสายด้วยการกระโดดบนแผ่นสปริงไม่เหมาะกับร่างกาย เพราะแรงโน้มถ่วงจะทำให้เกิดการยืดเส้นสายมากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ง่าย วิธีการบริหารกายแบบใหม่เพียง 20-30 วินาที หยุดผ่อนคลายและหายใจ จากนั้นทำซ้ำอีก การบริหารกายด้วยการยืดเส้นสายควรทำเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อสำคัญส่วนอื่นทั่วร่างกายได้เคลื่อนไหว โปรดระลึกเสมอว่าการยืดเส้นสายควรทำให้พอดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

กล้ามเนื้อ

ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมีความสำคัญต่อการมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่เพียงการมีรูปร่างกระชับเข้ารูปเท่านั้น เป็นสิ่งช่วยให้เรามีแรงและสามารถเคลื่อนไหวทำงานได้ ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว มีร่างกายแข็งแรงและสมดุล

นอกจากนี้กล้ามเนื้อมีบทบาทสำคัญต่อการเผาผลาญอาหารและควบคุมน้ำหนัก คุณลองคิดดูสิว่า เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อเป็นเสมือนเตาเผาไขมัน กล้ามเนื้อจะสามารถเผาผลาญไขมันได้ 25 เท่ามากกว่าเนื้อเยื่อไขมัน การเผาผลาญยังคงทำงานต่อไปแม้ขณะนอนหลับ ดังนั้น ยิ่งออกกำลังกายมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มการเผาผลาญมากขึ้น การลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวโดยไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักที่หายไปนั้นคือกล้ามเนื้อของท่านเอง ซึ่งหายไปอย่างน้อยหนึ่งในสี่ส่วนของร่างกาย เท่ากับเป็นการสูญเสียแหล่งเผาผลาญพลังงานไปหนึ่งในสี่ส่วน จากนั้นเมื่อท่านเปลี่ยนการควบคุมอาหาร หันมารับประทานอาหารตามปกติอีก ระบบการเผาผลาญของร่างกายคุณจะไม่เผาผลาญไขมันได้เท่าที่ควร และจะกลับมามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อของเราจะเริ่มหดหายไป ทำให้มวลกล้ามเนื้อหายไป การเผาผลาญก็หายตามไปด้วย ทำให้อ่อนแรงและเกิดภาวะกระดูกพรุน และกระดูกอุ้งเชิงกรานเกิดปัญหาแตกหรือร้าว เมื่ออายุมากขึ้นอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ มีการวิจัยพบว่าท่านไม่สามารถรักษาสุขภาพให้แข็งแรงได้หากไม่ออกกำลัง ดังนั้น จึงควรออกกำลังกายเสมอเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้มากขึ้นเพื่อการเผาผลาญที่ดียิ่งขึ้น