โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้อย่างไร

Post date: 20 พ.ย. 2013, 3:41:52

โรคกระดูกพรุน หมายถึงการที่กระดูกมีรูและพรุน โรคนี้จะทำให้กระดูกบางและอ่อนลง ทำให้กระดูกร้าว หักได้ง่ายแม้ล้มกระแทกจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย

โรคกระดูกพรุนกำลังกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 60 % ของหญิงชาวออสเตรเลีย และ 30% ของชายออสเตรเลีย ที่อายุมากกว่า 60 ปี กำลังประสบอยู่จากการร้าวหรือแตก หักของกระดูก ซึ่งสัมพันธ์กับโรคกระดูกพรุน (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข)

โรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคกระดูกพรุนเกิดจากการสูญเสียแคลเซียมในกระดูก แคลเซียมเป็นสารที่มีความสำคัญต่อกระดูก กว่าร้อยละเก้าสิบเก้าของแคลเซียมอยู่ในกระดูกและฟัน ดังนั้นเมื่อกระดูกเริ่มสึกหรอ แคลเซียมจากอาหารที่รับประทานเข้าไปจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเหล่านั้นได้

แคลเซียมอีกร้อยละหนึ่งอยู่ที่น้ำเลี้ยงในร่างกาย ทำงานร่วมกันกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ และสำหรับการแข็งตัวของเลือด ปริมาณของแคลเซียมในน้ำเลี้ยงของร่างกายจะต้องมีปริมาณคงที่อยู่ตลอดเวลา หากมีระดับต่ำเกินไปแคลเซียมจะถูกดึงออกจากกระดูก หากเป็นเช่นนี้หลายปีนำไปสู่การเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โปรดจำไว้เสมอว่ากระดูกยิ่งหนาแน่นเท่าไหร่ โอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนยิ่งน้อยลงเท่านั้น

เหตุใดผู้หญิงเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย

เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะสูญเสียแคลเซียมออกจากกระดูก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าด้วยเหตุผลสองประการคือ

· ผู้หญิงมีกระดูกเบาบางกว่าผู้ชาย

· ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงที่ต่ำลงทำให้เร่งการสูญเสียแคลเซียม

ผู้หญิงที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากยิ่งกว่า