11. ครอบครัวสุขภาพดี

ท่านอาจแปลกใจว่าทำไมบทเรียนนี้จึงกล่าวถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว จิตวิทยามีผลกับวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือไม่ จากการวิจัยพบว่าร่างกายที่มีสุขภาพดีมีความเกี่ยวข้องกับจิตใจและอารมณ์ การศึกษาพบว่าเมื่อใดที่มีผู้ใดเจ็บป่วยทางจิตใจ จะมีผลต่ออาการป่วยทางร่างกายด้วย และเมื่อร่างกายป่วยจะส่งผลจิตใจให้ป่วยด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น มีการศึกษากลุ่มผู้ชายที่แต่งงานแล้วในประเทศอังกฤษพบว่า ผู้ชายที่หย่าร้างร้อยละ 76 มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นเท่าตัวมากกว่าผู้ชายที่ครองเรือนอย่างปกติสุข ผู้หญิงที่หย่าแล้วร้อยละ 39 จะพบอัตราเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงอื่น ผู้ทำการวิจัยชื่อ ฟิโอน่า แมคอาลิสเตอร์ กล่าวถึงเหตุผลนี้จากผลจากการวิจัยว่า

  • การมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นกันชนป้องกันความเครียดและวิตกกังวล

  • การมีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ เป็นชนวนให้เกิดพฤติกรรมเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุราและการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน

ท่านอาจบอกว่าแม้ในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดียังมีการฆ่าตัวตายและเหตุร้ายต่างๆ เกิดขึ้นให้เห็นเช่นกัน รวมทั้งโรคบางอย่างเช่น โรคหัวใจและโรคมะเร็งเกิดขึ้นได้เช่นกัน

ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีผลต่อสุขภาพจิต รายงานของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตและประสาท จากผู้ป่วยชายทั้งหมด 100,000 คน มีดังนี้

  • ชายสมรสแล้ว 257 คน

  • ชายโสด 663 คน

  • ชายที่เป็นหม้าย 752 คน

  • ชายที่หย่าร้าง 1,959 คน

พบว่าในผู้หญิงมีจำนวนใกล้เคียงกัน

ในบทเรียนบทที่ 1 ให้คำจำกัดความคำว่า สุขภาพ ว่าหมายถึงการมีจิตใจ ร่างกาย สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณสมบูรณ์ดี แม้ว่าท่านจะชอบหรือไม่ก็ตามครอบครัวมีอิทธิพลต่อชีวิตของท่านในทุกด้านดังที่กล่าวมา จากหนังสือชื่อ “ครอบครัว” ของ โมอิรา อีสต์แมน ได้รวบรวมข้อมูลการวิจัยไว้ดังนี้

  • วิธีในการแสดงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านจิตใจและร่างกายของสมาชิกในครอบครัวนั้นอย่างมากมาย

  • ความเครียด ความวิตกกังวล จิตใจห่อเหี่ยวและความสับสนอาจเกิดขึ้นจากวิธีการปฏิบัติตัวต่อกันและกันของสมาชิกภายในครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เกิดจากการปฏิบัติต่อกันซึ่งสามารถมีผลบรรเทาอาการทางจิตใจได้เช่นเดียวกัน

  • ครอบครัวที่ตอบสนองด้านจิตใจ อารมณ์ ความคิด สุขภาพจิตและความต้องการของบุตรหลานจะใส่ใจดูแลสุขภาพกายของเขาด้วยเสมอ

  • ครอบครัวที่คอยช่วยเกื้อหนุนกันและกัน (หรือมีกลุ่มคนที่สนิทสนมคอยช่วยเหลือกันและกัน) สามารถลดความเครียดได้ ทำให้สุขภาพดีขึ้น ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งมีปัญหาที่โรงเรียน และเกิดความเครียดมาก เมื่อเขากลับไปที่บ้านพบผู้ปกครองพูดคุยกันถึงปัญหา ปรึกษากัน ได้รับความห่วงใยและความช่วยเหลือจากครอบครัว จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกดีขึ้นและสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

บทเรียนสือนี้จะให้โครงสร้างหลักการเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้นและสนุกสนาน เหมาะกับครอบครัวทุกแบบ สำหรับคุณพ่อหัวเก่า คุณแม่ที่มีบุตรสองสามคน ทั้งพ่อและแม่หม้าย พ่อแม่บุญธรรม ลูกหลานที่อาศัยกับปู่ย่าตายาย หรือแม้ในครอบครัวที่อาศัยอยู่รวมกันแม้ไม่ได้เป็นญาติ หลักการนี้สามารถนำไปใช้ในที่ทำงาน ทีมนักกีฬา หรือกลุ่มอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

วิธีสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์

มีการวิจัยระดับโลกเกี่ยวกับครอบครัวต่างเห็นพ้องกันว่าครอบครัวที่ประสบความสำเร็จมีส่วนร่วมในการแบ่งปันความสุขและเสริมกำลังกันและกัน โดยการตั้งเป้าหมายดังต่อไปนี้

1. มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี

ครอบครัวที่มีความสมบูรณ์ สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นได้อย่างดี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันและปัญหาความเครียดต่าง ๆ โดยทุกคนร่วมกันแก้ปัญหาในทางบวก ร่วมมือกันเพื่อจัดการกับความยากลำบากที่เกิดขึ้น

2. มีข้อผูกมัดต่อกันและกัน

ครอบครัวที่มีความสุข มีการผูกมัดต่อกันอย่างเหนียวแน่น พยายามทำตามคำมั่นสัญญาเพื่อสร้างความสุขและทำงานอย่างผาสุขแก่สมาชิกในครอบครัวทุกคน ใช้เวลา มีกิจกรรมร่วมกัน ยึดถือครอบครัวมาเป็นหนึ่งเสมอ มีความสนใจ มีเป้าหมายอันเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวพัฒนาความผูกพันและมีความสุขมากยิ่งขึ้น

3. การสื่อสาร

ครอบครัวมีสุข ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเพื่อการพูดคุย การฟัง แบ่งปันทุกข์และสุข สื่อสารกันอย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์ต่อกัน หากมีปัญหาคลางแคลงใจกัน พยายามจะปรับความเข้าใจกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

4. การเป็นส่วนตัว

ครอบครัวที่เป็นสุขจะพยายามให้กำลังใจกันและสมาชิกในครอบครัวจะรู้สึกผูกพัน

กัน แต่ก็ยังมีความมั่นใจในตัวเองและมีความเป็นส่วนตัว และมีอำนาจเลือกทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อถึงเป้าหมายของชีวิตในแต่ละคน

5. เห็นคุณค่ากันและกัน

ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จนั้นรู้ซึ้งถึงคุณค่าของทุกคนในครอบครัว เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยความช่วยเหลือของทุกคน แต่ละคนรู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่ต้องการคนในครอบครัว

6. มีสุขภาพจิตที่ดี

ครอบครัวที่เป็นสุขส่วนใหญ่ มีศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ มีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน ทั้งนี้ศาสนาจะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีความรักกันและกัน มีความเข้าใจ เห็นใจ อภัยให้แก่กัน แบ่งปันความเชื่อให้แก่กัน แม้อาจมีบางคนที่ไม่สนใจศาสนา หรือนับถือศาสนาเดียวกัน แต่ก็มีค่านิยมและมาตรฐานการดำเนินชีวิตที่คล้ายกัน

7. เข้าร่วมสังคม

ครอบครัวเป็นสุขมีเพื่อนมากมาย ทั้งเพื่อนบ้าน และญาติพี่น้อง ทั้งปู่ย่าตา ยาย ฯลฯ ไม่อยู่ตัวคนเดียว แต่เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน ทำให้สร้างเครือข่ายในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น มีแหล่งข้อมูลที่ช่วยเหลือในยามเกิดความเครียด ความทุกข์และการเปลี่ยนแปลงในชีวิต

8. สร้างบทบาทที่ชัดเจน

ครอบครัวที่มีสุขรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองในครอบครัวว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร รู้ว่าต้องทำอะไร มีความยืดหยุ่นพอที่จะหาจุดร่วมกับผู้อื่น สามารถตกลงความต้องการของสมาชิกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ไม่เป็นอุปสรรคในการทำให้ครอบครัวมีสุขได้

9. มีเวลาให้กันเสมอ

ครอบครัวที่เป็นสุขหาเวลาอยู่ด้วยกันเสมอ แม้ว่าจะมีงานหนักและยุ่งเพียงใดก็ตาม ทุกคนเล่น ทำงาน เรียน และทำกิจกรรมทางศาสนาด้วยกัน การมีเวลาอยู่ด้วยกันจะเป็นการแบ่งปันประสบการณ์และการให้ความรักความอบอุ่นแก่กัน เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดิยิ่งขึ้น

10. พัฒนาคุณภาพของตัวเอง

คุณภาพของจิตใจและร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวที่ดีควรพัฒนาสมาชิกครอบครัวในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ให้ดี

  • มีความรักที่ไม่มีข้อแม้

  • การให้อภัยซึ่งกันและกัน

  • ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน

  • มีความอดทนและยอมรับความแตกต่างของตัวเองกับผู้อื่น

  • มีความซื่อสัตย์และซื่อตรง

  • พูดแต่ความจริงที่น่ายกย่อง

  • เห็นอกเห็นใจผู้อื่น คิดถึงความต้องของผู้อื่นเสมอ

  • สามารถแก้ปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ ได้

  • สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองไม่ให้มีแต่ความโกรธและแสดงอารมณ์ที่เหมาะสมต่อผู้อื่น

มีการวิจัยเกี่ยวกับครอบครัวค้นพบว่าการมีจิตใจที่ดีงาม เป็นอย่างดีแก่ชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับผู้อื่น การทำงาน การเรียน การแต่งงาน หรือแม้แต่กับเพื่อนบ้านของตัวเอง

ปัญหาการดำรงอยู่

เมื่อครอบครัวดำเนินไปโดยไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อน ไม่สามารถทำในสิ่งที่กล่าวมานี้ อาจมีผลร้ายต่อครอบครัว ต่อกลุ่มและกับแต่ละคนได้ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความคิดและสุขภาพจิต ต่อไปนี้คือสัญญาณเตือนสำหรับครอบครัว หากท่านเห็นว่าครอบครัวของตนเองมีลักษณะตามรายการนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าติดค้างอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถดำเนินครอบครัวต่อไปข้างหน้าได้ตลอดไป โปรดอ่านต่อไปเพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา

1. ไม่สามารถแสดงออกอารมณ์ได้

การที่สมาชิกในครอบครัวมีอาการผิดปกติในการแสดงอารมณ์หรือหลีกเลี่ยงการ แสดงอารมณ์เพื่อซ่อนความรู้สึกทั้งความเจ็บปวด การป้ายความผิดให้ผู้อื่น ว่าคนอื่นทำให้เขารู้สึกอย่างนั้นอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เป็นความกดดันลึกๆ ภายในจิตใจที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตในภายหลังได้

2. การสื่อสารที่ย่ำแย่

ครอบครัวที่ไม่ค่อยเปิดช่องเพื่อสื่อสารหรือไม่มีการสื่อสารที่ดีและถูกต้อง นำมาซึ่งความเข้าใจผิดและไม่เข้าใจกัน เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง หรือหลีกเลี่ยงไม่พูดจากันเลย เป็นความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่แย่ลงของ เกิดปัญหารุนแรงและมีผลกระทบต่อผู้อื่นในครอบครัว ดังนั้น จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ดี ชัดเจน เข้าใจกันง่าย มีความเอื้ออาทรต่อกัน เห็นใจผู้อื่น เปิดเผยและพูดจาสื่อสารกันโดยตรง หลีกเลี่ยงวิธีการเงียบ ไม่พูดหรือให้ผู้อื่นเดาใจ

3. ความโกรธและความขัดแย้ง

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น บางครอบครัวใช้วิธีมองข้ามปัญหามากกว่าการ เผชิญกับปัญหานั้น การทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในครอบครัว เมื่อเกิดการโต้เถียงกัน ก็จะทำลายความรู้สึกที่ดีของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และเป็นการไม่เคารพซึ่งกันและกันเลย เมื่อเกิดอารมณ์โมโห ทำให้เกิดบันดาลโทสะขึ้นมา อาจทำร้ายร่างกายผู้อื่นหรือตัวเองหรือขว้างปาข้าวของ สิ่งนี้เป็นการแสดงอารมณ์โกรธออกมาเนื่องจากความขัดแย้ง

4. ไม่มีขอบเขตไม่ชัดเจน

ครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น จะเกิดปัญหาขอบเขตความสัมพันธ์ไม่ชัดเจน เมื่อมีใครคนหนึ่งในครอบครัวเกิดมีปัญหาและแยกตัวออกไปเนื่องจากคิดว่าคนอื่นเข้ามายุ่งย่ามในชีวิตตัวเองมากเกินไป จึงต้องควรระวังด้วย ควรเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น หากไม่จำเป็นไม่ควรก้าวก่ายกัน เว้นเสียแต่มีการขอความช่วยเหลือ

5. การบังคับและควบคุมผู้อื่น

ในครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นเกิดความโกรธหรือผิดหวังในสมาชิกของครอบครัว มักใช้วิธีทำให้ผู้นั้นได้รับความอับอายหรือโยนความผิด คนเหล่านี้จะพยายามควบคุมและบังคับให้ผู้อื่นทำตามสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกผิดหรือรู้สึกขาดความมั่นใจ

6. มีทัศนคติด้านลบ

ครอบครัวที่มีปัญหามักจะมีความตึงเครียดและสงสัยในผู้อื่น มักมองโลกในแง่ร้าย ชีวิตขาดความสนุก เมื่อพวกเขาเล่นด้วยกัน มักมีคนบาดเจ็บเสมอ บางครั้งสนใจพูดคุยน้อย และไม่ค่อยแบ่งปันสิ่งที่มีคุณค่าและสิ่งต่างๆ ร่วมกัน

7. ความคิดดื้อรั้น ไม่ผ่อนปรน ไม่ยอมอ่อนข้อ

ครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่แนบแน่นหวาดกลัวต่อการทำสิ่งใหม่ ครอบครัวที่มีความคิดเดิมไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใด ยึดมั่นจนตึงเกินไป ไม่ลดหย่อนให้แก่กันเป็นเพราะว่ากลัวคนอื่นจะต่อว่าต่าง ๆ นานา พวกเขามักมีความคิดที่ขาดความอิสระ ไม่กล้าเผชิญกับอนาคต อยู่กับอดีตมากกว่าการเผชิญการเปลี่ยนแปลง

8. โดดเดี่ยว ขาดความสัมพันธ์กับสังคม

ส่วนใหญ่ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ไม่แนบแน่นมักชอบทำตัวโดดเดี่ยว แยกห่างจากสังคมคนรอบข้าง เป็นเพราะว่าพวกเขากลัวไม่อยากให้ผู้อื่นมารบกวน มักมีความคิดทางด้านลบ ด้วยพฤติกรรมนี้เอง จะทำให้พวกเขาเสียเพื่อนได้ง่าย

9. ความเครียดและความผิดปกติทางจิตใจ

ความรู้สึกที่ไม่ได้แสดงออกจะทำให้เกิดการเก็บกดไว้ภายในใจ ในที่สุดพัฒนากลายมาเป็นความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจได้

มองหาทางแก้ไขปัญหา

เมื่อเกิดวิกฤตปัญหาและความตึงเครียดนั้นท่านต้องการใครสักคนหนึ่งรับฟังปัญหาและทำให้ท่านรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง บางคนฟังดูแล้วอาจคิดว่าช่วยได้จริงหรือ แต่น้อยคนนักที่ตั้งใจฟังและเข้าใจก่อนให้คำแนะนำ มีคนที่มีปัญญาและได้รับการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่สามารถช่วยเหลือท่านได้อย่างแท้จริง เพราะการปรึกษาใครสักคนหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขหา มีทางออกจากปัญหาได้นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากไม่ต้องกังวลแล้วยังทำให้เข้าใจตัวเองและปัญหามากขึ้น

สำหรับบางคนโดยเฉพาะกับผู้ชาย ส่วนใหญ่มักคิดว่าการพบจิตแพทย์หรือปรึกษาใครสักคนเป็นเรื่องไม่จำเป็นและแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนไร้สามารถหรืออ่อนแอ สิ่งนี้ไม่จริง ท่านควรหาใครสักคนมาคอยปรึกษา เพราะไม่อย่างนั้น เหตุใดจึงต้องมีช่างซ่อมรถ มีทันตแพทย์ขึ้นมา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะพิเศษ การพบจิตแพทย์ก็เช่นเดียวกัน ควรปรึกษากับผู้ที่มีทักษาความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ การเข้าหาที่ปรึกษาไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ ท่านเพียงแต่หาเข็มทิศเพื่อบอกทางให้กับชีวิตของตนเองให้มีสุขภาพและสังคมของของท่านดียิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

บทที่ 12 เกี่ยวกับความมั่นใจและพึงพอใจในตัวเอง